ห้องเรียนวิจัยแห่งลุ่มน้ำสาละวิน

08/06/2014 14:20

บทเรียนวิถีชีวิตกับการเรียนรู้เพื่อเข้าถึงความจริง

๓ สัปดาห์แรกของการจัดกระบวนการเรียนรู้ด้วยหลักสูตรวิถีชีวิตปกาเกอะญอลุ่มน้ำสาละวิน ในระบบห้องเรียนวิจัยของโรงเรียนซิวาเดอ ตำบลแม่สามแลบ อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นโอกาสเริ่มต้นที่สำคัญในการเปลี่ยนพลังภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมายาวนาน ให้เป็นเงื่อนไขการเรียนรู้ที่มีความหมายต่อการบ่มเพาะจิตวิญญาณน้อยๆ ที่กำลังเติบโตขึ้นในภูมินิเวศลุ่มน้ำสาละวิน ซึ่งมีประวัติศาสตร์ของการดำรงชีวิตของผู้คนอันยาวนานท่ามกลางนิเวศธรรมชาติ แห่งหนึ่งของโลกใบนี้ ในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์

การเรียนรู้เปิดฉากแรกด้วยการทักทายต่อพลังแห่งความทรงจำอันซ่อนเร้น ซ่อนลึกอยู่ในจิตใจของเด็กๆ ผู้เรียนรู้ ถ่ายทอดออกมาเป็นรูปภาพที่บ่งบอกถึงความสัมพันธ์ที่เขาเหล่านั้นประทับไว้ในจิตใจ ทักษะการลากลายเส้นแม้จะยังไม่งดงามในสายตาของผู้พบเห็น แต่ความหมายที่สื่อสารออกมาทำให้ผู้จัดกระบวนการเรียนรู้ ได้รับรู้ถึงความรู้สึกนึกคิดที่เป็นความจำได้หมายรู้ของเด็กผู้เรียน นำมาสู่การระดมคำศัพท์ที่สามารถสร้างการเรียนรู้ร่วมกันอย่างมีความหมาย อย่างน้อยก็เป้นความหมายเล็กๆในจิตวิญญาณของเด็กผู้เรียน

 “บ้าน โบสถ์ โรงเรียน ธงชาติ ถนน ต้นไม้ ดอกไม้ ภูเขา พระอาทิตย์ เสือ ช้าง ปลา เต่า นก ปู ตะขาบ กวาง ควาย แมงป่อง นกยูง ผู้ชาย ผู้หญิง” ล้วนเป็นคำศัพท์ที่ระดมออกมาได้จากภาพของเด็กผู้เรียน

กระบวนการเรียนรู้เกิดขึ้นแล้ว เมื่อใจของเยาวชนผู้จัดกระบวนการเรียนรู้จดจ่ออยู่กับการเรียนรู้ของเด็กผู้เรียนที่กำลังเกิดขึ้น ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเชื่อมโยงอย่างแยกแยะคำศัพท์ทั้งหมดออกเป็นหมวดๆ ซึ่งเด็กผู้เรียนส่วนใหญ่สามารถแยกหมวดคำได้ไม่ยาก แม้การเขียนและการอ่านคำศัพท์ยังติดขัดอยู่ไม่น้อยในระยะแรกของการเรียนรู้ ทำให้เยาวชน ผู้จัดกระบวนการเรียนรู้ได้รับรู้ถึงศักยภาพของเด็กผู้เรียนเป็นรายบุคคล ว่ามีความสามารถในการวิเคราะห์แยกแยะอันเป็นความรู้ที่สั่งสมเติบโตมาควบคู่กับชีวิตของเด็กผู้เรียน

และเมื่อชักชวนให้วิเคราะห์เชื่อมโยงหมวดคำศัพท์ที่เกี่ยวกับธรรมชาติ สัตว์ป่า  และสิ่งมีชีวิต กับ ความเชื่อมโยงต่อเด็กผู้เรียน ว่ามีความหมายเชื่อมโยงกันอย่างไร ก็ได้รับคำตอบเป็นความผูกพันอันซับซ้อนซึ่งดำรงอยู่ในใจเด็กว่า “ต้นไม้ สายน้ำ อันงดงาม มีความหมายต่อจิตใจของเรา และมีความหมายต่อกระท่อมปลายนา มีความหมายต่อ กุ้ง หอย ปูและปลา”

การออกแบบการจัดกระบวนการเรียนรู้ จึงเกิดขึ้นในหัวใจแห่งความเมตตาของเยาวชนที่มีศรัทธาต่อการจัดกระบวนการเรียนรู้ ด้วยหลักสูตรวิถีชีวิตแก่เด็กผู้เรียนในชุมชน ด้วยวาจาสุภาพ “ไม่พูดคำหยาบ ไม่ส่อเสียด ไม่เพ้อเจ้อ และที่สำคัญคือไม่พูดคำเท็จหรือพูดปด” เป็นการสื่อสารด้วยหัวใจ จากสัจจะความจริงที่ดำรงอยู่รายรอบตัวเราในพื้นที่อันเป็นธรรมชาติ ที่เกื้อหนุนใช้ชีวิตดำรงอยู่จากรุ่นสู่รุ่น ให้เกิดเป็นโอกาสในการจัดกระบวนการเรียนรู้บนพื้นฐานแห่งศักยภาพของผู้เรียนรายบุคคลที่คำนึงถึงความต้องการในการเรียนรู้ของผู้เรียนเป็นหลักสำคัญ

สำนึกดังกล่าวก่อเกิดศักยภาพสำคัญแก่ผู้จัดกระบวนการเรียนรู้ ต่อการ “ปฏิบัติอย่างใส่ใจรู้”เพื่อจะถ่ายทอดให้ผู้เรียนเกิดความสามารถในการเรียนรู้ด้านทักษะการอ่าน การเขียน การคิดวิเคราะห์ด้านทัศนคติ วิธีคิด อันเป็นประสบการณ์สำคัญในการรวบรวมองค์ความรู้ภูมิปัญญาเพื่อสั่งสมไว้ในใจของผู้เรียน จนก่อเกิดเป็นรากฐานแห่งพฤติกรรมในการดำรงอยู่อย่างสอดคล้องเหมาะสมกับนิเวศธรรมชาติที่อยู่รายรอบตัวเรา เฉกเช่น การสั่งสมภูมิปัญญาในการดำรงวิถีชีวิตที่บรรพบุรุษ โดยพึ่งพาอาศัยระบบนิเวศธรรมชาติเพื่อดำรงวิถีชีวิต “อาหาร ยา ผ้า บ้าน” เป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญในการดำรงอยู่ของครอบนครัวและชุมชน

ถึงกระนั้นเยาวชนผู้จัดกระบวนการเรียนรู้ ก็มิได้คิดเอง ทำเอง โดยลำพังตามใจต้องการ แต่การจัดกระบวนการเรียนรู้ ถูกจัดวางขึ้นร่วมกัน จากการร่วมกันคิดยกร่างกระบวนการเรียนรู้แต่ละช่วงเวลาของภาคเรียนที่ ๑ ปีการศึกษา ๒๕๕๗ ไว้ ๒๐ สัปดาห์ มีการปรึกษาผู้รู้ ผู้ปกครองทุกสัปดาห์ รวทมถึงการปรึกษากับผู้สังเกตการณ์จากสถาบันปัญญาปีติ และผู้อำนวยการโรงเรียนซิวาเดอ หัวหน้าโครงการวิจัยของห้องเรียนวิจัยหลักสูตรวิถีชีวิต    ซึ่งช่วยให้เกิดการพัฒนากระบวนการเรียนรู้โดยเอาความต้องการของชุมชนเป็นตัวตั้ง (Problem Base Learning: PBL1) โดยเงื่อนไขการจัดกระบวนการเรียนรู้ในแต่ละวันมีการสร้างใบงาน (Pattern Base Learning: PBL2) เพื่อฝึกทักษะความรู้ ความสามารถของผู้เรียน รวมถึงการกระตุ้นความต้องการในการเรียนรู้ของผู้เรียนด้วยการสร้างเงื่อนไขรายบุคคลและรายกลุ่มในการจัดทำโครงงานเดี่ยวและโครงงานกลุ่ม (Project Base Learning: PBL3) โดยคำนึงถึงความต้องการของชุมชนเป็นตัวตั้ง

 

 กระบวนการเรียนรู้ที่จัดวางขึ้นมาได้ไม่ยากในปีที่ผ่านมานั้น เป็นคุณูปการของ “ศูนย์การเรียนโจ๊ะมาโลลือหล่า” ของบ้านสบลาน ห้องเรียนสาขาของโรงเรียนแม่ลานคำ ตำบลสะเมิงใต้ อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งจัดกระบวนการเรียนรู้ด้วยหลักสูตรวิถีชีวิตปกาเกอะญอแห่งลุ่มน้ำขาน ภายใต้การสนับสนุนการขับเคลื่อนการดำเนินงานโดยสถาบันอาศรมศิลป์ มูลนิธิรุ่งอรุณ นับเป็นตัวอย่างต้นแบบที่บุกเบิกการจัดกระบวนการมาไม่น้อยกว่า ๔ ปี เป็นต้นทุนสำคัญในการจัดกระบวนการเรียนรู้ของศูนย์การเรียนหญ้าแพรกสาละวิน

๓ สัปดาห์แห่งการเริ่มต้นนี้ จึงนับเป็นช่วงเวลาสำคัญของการสร้างความเข้าใจต่อผู้ปกครอง สมาชิกชุมชน โรงเรียนในและนอกพื้นที่ รวมถึงผู้สนใจติดตามรับรู้เรื่องราวผ่านสื่อออนไลน์ ซึ่งทุกการรับรู้และคำแนะนำรวมถึงการสนับสนุนมีส่วนสำคัญในการริเริ่มขึ้นใหม่ในพื้นที่ลุ่มน้ำสาละวิน ซึ่งยังมีอีกหลายชุมชนที่เด็กยังเข้าไม่ถึงโอกาสทางการศึกษา เพราะระยะทางห่างไกลจากที่ตั้งของโรงเรียนในสังกัดของเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) เช่น หย่อมบ้านโก๊ะงอคี หย่อมบ้านพะละอึ หย่อมบ้านปู่ทา หย่อมบ้านปู่คำ หย่อมบ้านบุญเลอน้อย จึงเป็นความตั้งใจต่อทีมวิจัย ซึ่งการจัดกระบวนการเรียนรู้ ในระบบห้องเรียนวิจัยของโรงเรียนขยายโอกาส เพื่อสร้างตัวอย่างในพื้นที่นำร่อง บ้านแม่ลามาน้อย และบ้านห้วยมะโอ เพื่อให้เกิดการถ่ายทอดประสบการณ์การจัดกระบวนการเรียนรู้สู่ชุมชน ในพื้นที่ชายแดนไทย-พม่า ซึ่งห่างไกลทุรกันดาร เดินทางเข้าถึงยาก ให้เด็กในชุมชนได้รับโอกาสทางการเรียนรู้ อีกไม่น้อยกว่า ๒๐๐ คนที่กำลังรอโอกาสอยู่