การพัฒนาระบบสนับสนุนการศึกษาบนพื้นที่สูง

11/01/2014 22:48

               

การจัดการศึกษาด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น “อาหาร ยา ผ้า บ้าน” เป็นการเปิดพื้นที่การมีส่วนร่วม และให้บทบาทแก่ ผู้รู้ท้องถิ่นและสมาชิกในชุมชน ซึ่งมีการสั่งสมภูมิปัญญาอย่าง     ต่อเนื่อง ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ความรู้ดังกล่าวจึงเป็นความรู้ที่สามารถใช้ในการดำรงชีวิตได้จริง เนื่องจากมีการปรับตัวตามสภาพสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย   

นอกจากนี้ การจัดการศึกษาด้วยภูมิปัญญาของท้องถิ่น “อาหาร ยา ผ้า บ้าน” ยังมีส่วนสำคัญต่อการสร้างการเรียนรู้จากสัจจะความจริงที่มีอยู่ในพื้นที่ เรียนรู้จากของจริง เป็น       ปฏิบัติการที่ส่งผลให้เด็กนักเรียนเกิดการเรียนรู้อย่างใส่ใจ “ต้องมีความตั้งใจ ในการดู และการฟัง แล้วจึงนำมาปฏิบัติ ถึงจะเกิดผล” ซึ่งการปฏิบัติให้สามารถดำรงอยู่อย่างพึ่งพาธรรมชาติแวดล้อมที่มีอยู่ในท้องถิ่นนั้น “นักเรียนจะต้องน้อมใจเข้าเรียนรู้จากสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติที่มีอยู่ในท้องถิ่นของตน” จึงจะสามารถใช้ประโยชน์ในการดำรงชีวิต     อย่างพึ่งพาธรรมชาตินั้นได้ “กินเป็น อยู่เป็น” และเมื่อความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมยุคปัจจุบัน   จะเข้ามากระทบต่อวิถีความเป็นอยู่ของตนและชุมชน นักเรียนที่เรียนรู้เข้าถึงความจริงและสามารถพึ่งพาธรรมชาติที่มีอยู่ในท้องถิ่นของตน ก็จะสามารถอุทิศตนในการดูแลรักษาและหาทางเลือกในการพึ่งพาธรรมชาติในท้องถิ่นได้อย่างเหมาะสม    ต่อสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงของสังคมบริโภคนิยม

แต่การศึกษาที่มีอยู่ในปัจจุบันเป็นการศึกษาที่ขาดความสมบูรณ์แบบ เป็นการเรียนรู้เพื่อให้เกิดความชำนาญเพียงบางด้าน แต่ขาดการเรียนรู้ด้านสำคัญ โดยเฉพาะการเรียนรู้เพื่อพัฒนาจิตวิญญาณของผู้เรียน ซึ่งท่านพุทธทาส ได้กล่าวถึงการศึกษาในปัจจุบันไว้ว่า “เป็นการศึกษาที่ไม่จำกัดความเห็นแก่ตัว กล่าวคือ การศึกษาในปัจจุบัน    เป็นการศึกษาที่ขาดการควบคุมความฉลาด เป็นการศึกษาที่ใช้เล่ห์เหลี่ยมด้วยความฉลาดในทางกอบโกย เป็นการศึกษาที่จัดการเรียนเหมือการแข่งขัน”

ท่านพุทธทาส ยังได้แนะนำให้การจัดการศึกษาควบคู่กับศีลธรรม เน้นการอบรมความไม่เห็นแก่ตัว เป็นการศึกษาที่เรียนรู้ควบคู่กันทั้งกายและจิต ศาสนาและวัฒนธรรม เป็นการศึกษาที่เตรียมมนุษย์สำหรับอยู่ร่วมกัน โดยท่านได้ระบุว่า “การศึกษาที่แท้จริงต้องออกมาจากภายใน มิใช่เข้าไปจากภายนอก" นั่นคือ

                    1) ดูตัวเอง (ดูเข้าไปข้างใน)                                              2) เห็นตัวเอง (โดยสัญชาตญาณ “อวิชชา”)

                    3) รู้จักตัวเอง (อนัตตา)                                                     4) บังคับตนเอง (ไม่ยึดถือตน/ของตน)

                    5) ชนะตัวเอง (ไม่ยึดถือ)                                                  6) พอใจตัวเอง (ไม่เป็นทุกข์)

                    7) เคารพตัวเอง(ที่ไม่เห็นแก่ตัว/กราบไหว้ตัวเองได้)         8) พึ่งตัวเอง (เป็นที่พึ่งได้)

                    9) ปลดปล่อยตัวเอง (จากการยึดมั่น/ถือมั่น)                    10) หลุดพ้นจากตัวเอง(จากทุกข์ของตนเอง)

                    11) บรมสุขของตนเอง (เหนือโลก เหนือทุกข์)               12) ช่วยเพื่อร่วมโลกอย่างกับช่วยตนเอง        

การจัดการศึกษาที่แท้จริง ให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อการพัฒนาผู้เรียนจากด้านใน จะเกิดขึ้นได้นั้นสถาบันปัญญาปีติ มีความเห็นว่าต้องมีการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง        จากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยสถาบันฯ มีกรอบแนวคิดในการดำเนินงาน   ให้เกิดการพัฒนาระบบสนับสนุนการศึกษาบนพื้นที่สูง      ซึ่งมีความพร้อมด้านต้นทุนผู้รู้ ปัจจัยแวดล้อม และองค์ความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น “อาหาร ยา ผ้า บ้าน” ขึ้น เป็นกรณีตัวอย่างนำร่อง ซึ่งมีหัวข้อสำคัญในการขับเคลื่อนการดำเนินงาน ดังนี้คือ

  1. การพัฒนา องค์ความรู้ ในการสนับสนุนการจัดการศึกษา ด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งมีกระบวนการเรียนรู้จากตนเอง สู่ การสร้างความรู้ความเข้าใจ เรียนรู้จากข้อเท็จจริงในธรรมชาติ / ใส่ใจเรียนรู้ (Deep Questioning)
  2. การพัฒนาความร่วมมือ เพื่อสนับสนุนการจัดการศึกษาด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งมีกระบวนการเรียนรู้จากผู้อื่น(ผู้เกี่ยวข้อง) สู่การสร้างความร่วมมือ / อุทิศตน ช่วยเหลือผู้อื่นอย่างถึงที่สุด (Deep Commitment)
  3. การพัฒนาแนวทางข้อตกลง ข้อบัญญัติ นโยบาย เพื่อสนับสนุนการจัดการศึกษาด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งมีกระบวนการเรียนรู้จากบริบทแวดล้อม สู่การสร้างแนวทางในการดำเนินงานร่วมกัน / ปฏิบัติการอย่างใส่ใจ (Deep Experience)

พัฒนาระบบสนับสนุนการศึกษาพื้นที่สูง.docx (665517)

การหนุนเสริมการเรียนรู้ สถาบันปัญญาปีติ.pptx (262185)

หลักสูตรวิถีชีวิต บ้านแม่ลามาน้อย บ้านห้วยมะโอ.docx (914065)