พัฒนาระบบอาสาสมัคร กับ การศึกษาบนฐานวิถีชีวิตชุมชน

04/05/2015 16:57

 

         

        ระยะเวลาไม่น้อยกว่า 2 ปีที่ผ่านมา (2556-2558)  การจัดกระบวนการเรียนรู้ และพัฒนาระบบสนับสนุนการดำเนินการของศูนย์การเรียนหญ้าแพรกสาละวิน โอกาสในการพัฒนาศักยภาพผู้เรียน 2 ประเด็นสำคัญ คือ

1) การพัฒนาหลักสูตร /  หน่วยบูรณาการเรียนรู้ ที่มีความสอดคล้องกับการดำเนินวิถีชีวิตของชุมชน เอื้อต่อกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้ปกครอง ผู้รู้และสมาชิกในชุมชน ในการออกแบบ การจัดกระบวนการเรียนรู้ และการประเมินผล เพื่อพัฒนาคุณภาพผู้เรียน

2)  การพัฒนาศักยภาพของผู้จัดกระบวนการเรียนรู้ (เยาวชนจิตอาสากลุ่มหญ้าแพรกสาละวิน และบัณฑิตอาสา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) ซึ่งเป็นการเติมเต็มศักยภาพ   ด้านที่แตกต่างกันและกันในระหว่างดำเนินการจัดกระบวนการเรียนรู้แก่เด็กผู้เรียน ร่วมกับผู้ปกครอง ผู้รู้ โดยมีทีมงานของสถาบันฯ ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงคอยสนับสนุนเสริมพลัง ในการสรุปบทเรียนและพัฒนาศักยภาพในการจัดกระบวนการเรียนรู้ แก่อาสาสมัครจากทั้งในชุมชนและมหาวิทยาลัย เพื่อให้มีความพร้อมทั้งด้านความรู้ ความสามารถ และคุณภาพของจิตใจในการพัฒนาคุณภาพเด็กผู้เรียน

 

กรณีดังกล่าว พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ได้กล่าวถึงสาระของบัณฑิตหรือมนุษย์ที่สมบูรณ์ ควรมีคุณสมบัติสำคัญ 3 ประการ คือ

1)  เป็นผู้มีปัญญา รู้สัจธรรม สอดคล้องกับจุดหมายอันดับแรกของการศึกษา กล่าวคือ เราเล่าเรียนศึกษาสิ่งต่างๆ  เพื่อที่จะเข้าถึงความจริงของสิ่งนั้น

2)  เมื่อรู้สัจธรรมด้วยปัญญาแล้ว ก็ปฏิบัติต่อชีวิตและสังคมได้ถูกต้อง โดยใช้ปัญญาที่รู้สัจธรรมนั้นมาดำเนินชีวิตของตนและปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลาย ให้เกิดผลโดยเกื้อกูลไร้โทษ การดำเนินชีวิตถูกต้องและปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายถูกต้องนี้ เรียกว่า “จริยธรรม”

3)  เมื่อดำเนินชีวิตถูกต้องและปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายถูกต้องตามหลักจริยธรรมแล้ว ก็แก้ปัญหาได้สำเร็จถึงจุดหมาย เป็นบุคคลที่สามารถแก้ปัญหาและป้องกันปัญหาได้ พ้นทุกข์พบความสุข และบรรลุอิสรภาพ

 

        บัณฑิต จึงนับได้ว่าเป็นผู้ที่ได้รับการพัฒนาแล้ว ทั้งทางกาย ทางสังคม ทางจิตใจ และทางปัญญาพร้อมที่จะดำเนินชีวิตที่ดีงามด้วยตนเอง และรับผิดชอบสร้างสรรค์พัฒนาสังคมได้ด้วยดี ทั้งสังคมในยุคปัจจุบัน และสังคมที่ดีงามในอนาคต ซึ่งมีความจำเป็นต้องรู้เท่าทันโลกมายาที่ขับเคลื่อนด้วยกิเลส  โดยอาศัยกลไกในการสร้างปัญญา ที่ประกอบด้วยกระบวนการในการถ่ายทอดแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และกระบวนการในการสร้างความสัมพันธ์   

 

         ในปี พ.ศ. 2558 สถาบันปัญญาปีติ ได้ประสานงานกับสถาบันคลังสมองของชาติ เพื่อสร้างโอกาสในการสนับสนุนผู้จัดกระบวนการเรียนรู้ (เยาวชนจิตอาสาในพื้นที่สูง และนักศึกษา/บัณฑิตอาสาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ในภูมิภาค) สำหรับจัดกระบวนการเรียนรู้บนฐานวิถีชีวิตแก่เด็กผู้เรียน ในชุมชนบนพื้นที่สูงต่างๆ โดยอาศัยบทเรียน จากการสนับสนุนเยาวชนจิตอาสากลุ่มหญ้าแพรกสาละวิน  และบัณฑิตอาสา จากสำนักบัณฑิตอาสา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในการจัดกระบวนการเรียนรู้ด้วยกลุ่มประสบการณ์การดำเนินวิถีชีวิตของชุมชนปกาเกอะญอลุ่มน้ำสาละวิน   ในศูนย์การเรียนหญ้าแพรกสาละวิน ซึ่งสถาบันฯ มุ่งหวังให้เกิดโอกาสเพื่อสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพของผู้จัดกระบวนการเรียนรู้ ดังนี้ คือ

1)  การพัฒนาระบบสนับสนุนการจัดการศึกษาบนฐานวิถีชีวิตชุมชน (การคัดเลือกประเด็น พื้นที่ และบุคคลากร สำหรับหนุนเสริมพัฒนาศักยภาพ การติดตามและเสริมพลัง)

2)  การพัฒนาโอกาสในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ในระดับชาติ และภูมิภาคอาเซียน

3)  การยกระดับงานอาสาสมัครด้านการจัดการศึกษา “การเรียนรู้เพื่อการมีชีวิตที่ดีงาม” ให้เกิดเป็นโอกาสในการเรียนรู้ ของเด็กผู้เรียน และผู้จัดกระบวนการเรียนรู้ที่มีความแตกต่างหลากหลาย (กลุ่ม/วัย/อาชีพ/นิเวศวัฒนธรรม/พื้นที่การเรียนรู้) อันก่อให้เกิดเป็นคุณภาพของจิตใจ ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของคุณภาพชีวิต

 

        และเพื่อให้การพัฒนาระบบสนับสนุนการจัดการศึกษา บนฐานวิถีชีวิตชุมชน เกิดประโยชน์จากการได้รับโอกาสจากการประสานงานกับสถาบันคลังสมองของชาติ และมหาวิทยาลัยต่างๆ ในภาคเหนือและในภาคกลาง สถาบันปัญญาปีติ ร่วมกับสถาบันคลังสมองของชาติ ดำเนินการพัฒนาระบบอาสาสมัคร กับ การจัดการศึกษาบนฐานวิถีชีวิตชุมชน ในพื้นที่นำร่องจังหวัดแม่ฮ่องสอนโซนใต้  (อ.แม่ลาน้อย อ.แม่สะเรียง อ.สบเมย) โดยเบื้องต้นได้จัดประชุมขึ้นในวันที่ 12 พฤษภาคม 2558 เวลา 10.00-16.00 น.  เพื่อสร้างโอกาสในการจัดการเรียนรู้แก่เด็กผู้เรียนในชุมชน ให้เกิดโอกาสในการเรียนรู้องค์ความรู้ ภูมิปัญญา ที่สั่งสมประสบการณ์อยู่ในวิถีการดำเนินชีวิตของชุมชน   อย่างสอดคล้องกับลักษณะภูมินิเวศที่มีความหลากหลาย

 

คณะทำงาน

สถาบันปัญญาปีติ

นายนิติศักดิ์ โตนิติ โทรศัพท์ 081-6257811 E-mail:panyapeti@gmail.com

สถาบันคลังสมองของชาติ

นางสาวสุกัญญา เศษขุนทด โทร.02-6400461 ต่อ 103 E-mail: sukanya@knit.or.th

ที่ปรึกษาคณะทำงาน

1.      ศ.ดร.ปิยะวัติ   บุญ-หลง         ผู้อำนวยการสถาบันคลังสมองของชาติ

2.      นางสาวเย็นฤดี วงศ์พุฒ           ประธานมูลนิธิการศึกษาเพื่อชีวิตและสังคม

3.      ดร.บัญชร        แก้วส่อง          ผู้อำนวยการ สกว. ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น

4.      คุณชัชวาล       ทองดีเลิศ        เลขาธิการสมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย

5.      ร.ต.ท.เศวต     ปินตา             ผู้อำนวยการศูนย์การเรียนรู้เพื่อปวงชนแม่ฮ่องสอน (ม.ชีวิต)

6.      นางสาวอรุณี     เวียงแสง         ผู้ประสานงานศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น จ.แม่ฮ่องสอน

องค์กรภาคี

1)      สถาบันคลังสมองของชาติ

2)      สถาบันปัญญาปีติ

3)      มูลนิธิการศึกษาเพื่อชีวิตและสังคม

4)      สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย สกว. ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น

5)      สมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย

6)      ศูนย์การเรียนรู้เพื่อปวงชนจังหวัดแม่ฮ่องสอน (ม.ชีวิต)  

7)      ศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น (สกว.) จ.แม่ฮ่องสอน

8)      สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ ๑๖ (สาขาแม่สะเรียง)

9)      มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา

10)  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

11)  มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่

12)  มหาวิทยาลัยแม่โจ้

13)  มหาวิทยาลัยราชภัฎพระนครศรีอยุธยา

14)  สำนักบัณฑิตอาสาสมัคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

15)  มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ วิทยาเขตประสานมิตร

 

ผลที่คาดว่าจะได้รับ

1. ได้ข้อมูลพื้นฐาน(ทุติยภูมิ) ทางด้านกายภาพ ด้านการผลิต ด้านสังคม ด้านวัฒนธรรม ประเพณี พิธีกรรม  ด้านเศรษฐกิจ และด้านการดูแลสุขภาพองค์รวม ของชุมชน 

     ในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำยวม และลุ่มน้ำสาละวิน (อ.แม่ลาน้อย อ.แม่สะเรียง และ อ.สบเมย) จังหวัดแม่ฮ่องสอน

2.  ได้ประเด็นสำคัญ พื้นที่นำร่อง และบุคลากรที่สนใจ โดยเฉพาะแกนนำเยาวชนที่มีจิตอาสาในการจัดการศึกษาบนฐานวิถีชีวิตชุมชน

3.  เด็กผู้เรียน และผู้จัดกระบวนการเรียนรู้ เกิดความร่วมมือในการจัดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกับคณะอาจารย์และนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ  อย่างแตกต่างหลากหลาย

     (กลุ่ม / วัย / อาชีพ / นิเวศวัฒนธรรม / พื้นที่การเรียนรู้)

      

รายละเอียดโครงการและกำหนดการ(ล่าสุด).docx (166469)  

โครงการการเรียนรู้เพื่อการมีชีวิตที่ดีงาม Update - งบประมาณ.doc (921088)